ReadyPlanet.com
เตะความเครียด แล้วรับมือกับมัน article

 เตะความเครียด แล้วรับมือกับมัน

 

เครียด คือภาวะทางร่างกายและจิตใจที่แสดงอาการต่าง ๆ ตอบสนองต่อสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลง ความต้องการ หรือความคับข้องใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดความไม่สบายใจ และหากเกิดความเครียดมาก ๆ ก็อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพได้ ดังนัั้น ทุกคนควรมีวิธีจัดการและรับมือกับความเครียด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขสมดุลในชีวิต

สัญญาณของความเครียด บ่งชี้ถึงระดับของความเครียดได้ตามความรุนแรงของอาการ ได้แก่

อาการทางจิตใจ

  • ซึมเศร้า หดหู่ หมดหวัง
  • รู้สึกแย่เกี่ยวกับตนเอง รู้สึกไร้ค่า ขาดความมั่นใจ
  • หลีกหนีสังคม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือพบปะผู้คน
  • กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์
  • ไม่สามารถผ่อนคลายอารมณ์ได้ หรือสงบจิตใจลงได้ยาก
  • ควบคุมตนเองไม่ได้ หรือควบคุมตนเองได้ไม่ดี
 
อาการทางร่างกาย
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • ไม่มีเรี่ยวแรง พลังงานต่ำ
  • กัดฟันแน่น ขากรรไกรตึง
  • ปากแห้ง กลืนอาหารลำบาก
  • ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน
  • เจ็บ ปวด หรือรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
  • มือเย็น เท้าเย็น หรือมีเหงื่อออกมากที่มือและเท้า
  • ป่วยเป็นหวัด หรือมีอาการจากการติดเชื้อต่าง ๆ บ่อย ๆ
  • ตื่นตระหนก ตัวสั่น ได้ยินเสียงแว่วในหู
  • ไม่มีความต้องการ หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

อาการด้านการรู้คิด

  • ขี้หลงขี้ลืม
  • วิตกกังวลอยู่เสมอ
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดเรื่องใดได้นาน
  • มีความคิดตีกันอยู่ในหัว
  • จัดระบบความคิดได้ไม่ดี
  • คิด พิจารณา หรือตัดสินใจได้ไม่ดี
  • มองโลกแง่ร้าย มองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบ

อาการด้านพฤติกรรม

  • เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ไม่อยากกินอะไรเลย หรือกินมากเกินไป
  • มีพฤติกรรมที่เป็นผลจากระบบประสาท อารมณ์ และความคิด เช่น การเดินไปเดินมา หลุกหลิกอยู่ไม่นิ่ง อยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ กัดนิ้ว เป็นต้น
  • ขาดความรับผิดชอบ หลีกเลี่ยงงานหรือภาระหน้าที่ ผัดวันประกันพรุ่ง
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ใช้ยาหรือสารเสพติดมากขึ้น สูบบุหรี่จัดขึ้น
 
เครียดแล้วมีผลต่อร่างกายอย่างไร ?
 
เมื่อคนเราเผชิญกับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการ ความคิด หรือพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนอง ในบางกรณี ความเครียดที่เกิดขึ้นก็เป็นผลดีต่อร่างกาย เช่น หากอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงหรือน่าตื่นเต้น ชีพจรจะเต้นแรง หายใจเร็ว กล้ามเนื้อตึง สมองใช้ออกซิเจนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลไกในการปรับสมดุลเพื่อการอยู่รอด โดยกระบวนการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ความเครียดเรื้อรังติดต่อกันยาวนานกระบวนการหลั่งสารเคมีตัวเดียวกัน แต่จะส่งผลต่อการเกิดปฏิกิริยาที่เกินกว่าเพียงเพื่อปรับสมดุลเพื่อการอยู่รอดในชั่วขณะนั้น อย่างระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยลง ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย หรือระบบสืบพันธุ์ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และยิ่งเกิดความเครียดเป็นระยะเวลานานเท่าใด ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ประเภทของความเครียดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจ ได้แก่
  • ความเครียดเป็นกิจวัตร ที่เกี่ยวข้องกับความกดดันจากครอบครัว การทำงาน และภาระรับผิดชอบในแต่ละวัน
  • ความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในด้านลบอย่างกะทันหัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง การเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ
  • ความเครียดที่เกิดจากเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก เช่น อุบัติเหตุร้ายแรง ประสบภัยธรรมชาติ ผ่านประสบการณ์ในสงคราม หรือเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดแต่ละประเภทในรูปแบบอาการที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการส่วนใหญ่ในระบบย่อยอาหาร ในขณะที่บางคนอาจปวดหัว มีปัญหาการนอนหลับ ขี้หงุดหงิด หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า โดยผู้เผชิญความเครียดอย่างเรื้อรังเหล่านี้ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัส อย่างเป็นไข้หวัดหรือมีอาการหวัดบ่อยและรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้วัคซีนไข้หวัดมีประสิทธิผลทางการรักษาที่ลดต่ำลงไปด้วย ความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนี้
  • ปัญหาสุขภาพจิต: ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
  • ปัญหาประจำเดือน: รอบการมีประจำเดือนยาวนานหรือสั้นกว่าปกติ ประจำเดือนไม่มา หรือปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • ปัญหาผิวหนังและรูขุมขน: เกิดสิว ผื่น ผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน และผมร่วงศีรษะล้านถาวร
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร: โรคกรดไหลย้อน กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน
  • สมรรถภาพทางเพศ: เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว ไม่มีความต้องการทางเพศ
  • โรคความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน: โรคคลั่งผอมอะนอเร็กเซีย  โรคบูลิเมีย โรคกินมากผิดปกติโดยผู้ป่วยกินอาหารปริมาณมากและไม่สามารถควบคุมการกินของตนเองได้เป็นช่วง ๆ
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด: ความดันโลหิตสูง โรคความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน

 

เคล็ดไม่ลับ วิธีการรับมือกับความเครียดที่ควรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ 

  • สังเกตปฏิกิริยาทางร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด สัญญาณสำคัญ เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิด โกรธง่าย พลังงานต่ำ มีปัญหาในการนอน ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาหรือสารเสพติด
  • หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาอย่างผิดวิธี ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติด หรือใช้ผลข้างเคียงของยารักษาในทางที่ผิดเพื่อบรรเทาความเครียด
  • วางแผนจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง โดยการจดบันทึกเกี่ยวกับความเครียดในช่วงเวลา 2-4 สัปดาห์ แล้วทบทวนถึงสาเหตุของความเครียดที่กำลังเผชิญคืออะไร วันที่ เวลา และสถานที่ สิ่งที่กำลังทำในขณะนั้น คนที่อยู่ด้วยในขณะนั้น ความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จากนั้นทำอะไรต่อ มีอาการทางร่างกายอย่างไร แล้วให้คะแนนระดับความเครียดที่เกิดขึ้นจาก 0-10 (ไม่เครียด-เครียดมากที่สุด) หลังจากจดบันทึกแล้ว ให้ทบทวนว่าสาเหตุที่ทำให้เครียดคืออะไร จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร แล้ววางแผนรับมือว่าจะทำอย่างไรเมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันเหล่านั้นที่ทำให้เกิดความเครียด
  • จัดลำดับความสำคัญ เรียงลำดับและคัดแยกสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับ จดบันทึก วางแผนการทำงาน แล้วปฏิบัติตามกำหนดการที่วางแผนไว้ กำลังใจ และการสนับสนุนทางอารมณ์จากบุคคลใกล้ชิด เป็นหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ผู้ซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะตึงเครียดได้ผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้น โดยสามารถพูดคุย ปรึกษา ระบายปัญหา หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียดร่วมกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก
  • รู้จักปล่อยวาง ไม่จมอยู่กับปัญหา ยอมรับในสิ่งที่ต้องเผชิญ หาวิธีผ่อนคลายด้วยตนเอง ปรึกษาบุคคลใกล้ชิดหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์
  • ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนนอกบ้านบ้าง เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ขอความช่วยเหลือ หากไม่สามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง ต้องใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดแก้ปัญหา หรือเคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวที่ทุกข์ใจและทำให้เกิดความเครียด หรือเข้าร่วมกลุ่มบำบัดสนับสนุนภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ ชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา การวางแผนรับมือและบรรเทาความเครียด และรับกำลังใจสนับสนุนซึ่งกันและกันภายในกลุ่มบำบัด
 
อ้างอิง
https://www.pobpad.com
 
 
 

 




บทความด้านสุขภาพ

เคล็ดลับสำหรับผู้ชายในการดูแลสุขภาพ
สุขภาพสมองแข็งแรง article
วิธีบรรเทาอาการข้อต่อและปวดข้อ article