ReadyPlanet.com
รักษามะเร็งต่อมลูกหมากไม่น่ากลัวอย่างที่คิด article

 รักษามะเร็งต่อมลูกหมากไม่น่ากลัวอย่างที่คิด    

     พบได้ประมาณ 18% ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโต เช่นปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องเบ่งปัสสาวะ หรือถ้าเป็นระยะลุกลามของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามกระดูกหรือภาวะซีด 

     เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้กระจายไปที่กระดูก ปัจจุบันเรามี การเจาะเลือดดูค่า PSA เพื่อช่วยในการคัดกรองคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้เราพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมากขึ้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไป ค่า PSA ที่สูงนอกจากจะเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วยังเกิดได้อีกหลายสาเหตุเช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากอักเสบ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การใส่สายสวนปัสสาวะ โดยทั่วไปถ้าค่า PSA สูงเกิน 10 ng/dl โอกาสตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า 50 % ค่า PSA 4-10 ng /dl โอกาสพบ มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ 20- 30% โดยทั่วไปสำหรับในคนไทยทางแพทย์จะใช้ ค่ามากกว่า 4 ng/dl ถือว่าผิดปกติ นอกจากการเจาะ PSA อาจช่วยวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักถ้าคลำพบต่อมลูกหมากว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ไม่เรียบ มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ปัจจุบันถ้าผู้ป่วยมีค่า PSA ที่ผิดปกติ หรือ การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ท่านตัดตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจเพื่อพิสูจน์ว่ามีลักษณะของมะเร็งหรือไม่ ส่วนการรักษา ขึ้นกับระยะของโรค ถ้าเป็นระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ถ้าเป็นมะเร็งระยะลุกลามอาจใช้การรักษาด้วยการฉายแสงและฮอร์โมนเป็นหลัก

การตรวจเช็คขั้นต้นในการหามะเร็งต่อมลูกหมาก
     - แพทย์สามารถตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก : โดยแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมากโดยถ้าต่อมลูกหมากมีผิวขรุขะมีลักษณะแข็ง ทำให้นึกถึงมะเร็งต่อมลูกหมาก
     - การตรวจเลือดดูผล PSA (Prostatic Specific Antigen) : โดยปกติผลเลือด PSA ในคนปกติอยู่ในระดับ 0-4 µg/ml ซึ่งถ้าผลเลือด PSA มากกว่า 4 µg/ml อาจจะเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโตธรรมดาได้จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
 
อาการ
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ต้องเบ่งนาน และปัสสาวะขัด ปัสสาวะอ่อนแรง มีเลือดปนในปัสสาวะหรือปนกับอสุจิ
  • มีปัญหาต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
  • อาจพบได้ว่ามีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา
 
ระยะต่าง ๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมาก
     ระยะที่ 1 : เป็นระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่สามารถคลำก้อนได้จากการตรวจดูมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยพบว่าเป็นมะเร็งจากการที่มีการผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง
     ระยะที่ 2 : เป็นมะเร็งระยะที่สอง มีขนาดโตกว่าระยะแรกแต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก
     ระยะที่ 3 : เป็นมะเร็งที่ขยายตัวออกมานอกเยื่อหุ้มชั้นนอกของต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจจะไปสู่ Seminal vesical
     ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองกล้ามเนื้อ และกระดูกหรืออวัยวะอื่น ๆ
 
การรักษา
       โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกเครียด ผู้ป่วยควรตั้งสติ เพื่อนสนิทและญาติพี่น้องมีความจำเป็นที่จะเป็นเพื่อผู้ให้กำลังใจ ให้ข้อแนะนำ และควรปรึกษาแพทย์ส่วนตัว หรือแพทย์เฉพาะทาง ในภาวะปัจจุบันมีเอกสารและข้อมูลมากมายที่อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ส่วนที่จะไปพบแพทย์เฉพาะทางควรเตรียมคำถามที่เราสงสัยไปอย่างครบถ้วน จะเป็นการดีอย่างมากถ้าจะนำเพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง ไปร่วมฟังและสอบถามแพทย์ด้วย
 
การรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
     1. การผ่าตัด
     2. การฉายรังสี
     3. การใช้ฮอร์โมน
     4. ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
 
การเฝ้าดูโรคอย่างใกล้ชิด
        การที่แพทย์ตัดสินใจเลือกวิธีนี้ เพราะโดยธรรมชาติของโรคนี้ การขยายตัวของมะเร็งจะช้า โดยถ้าเจอมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี มะเร็งถึงอาจจะลุกลามทำอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ทำให้แพทย์เจ้าของไข้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจะใช้การผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ในผู้ป่วยอายุมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการผ่าตัดหรือดมยาสลบ
 
แหล่งที่มาอ้างอิง:
www.prostate-rama.com
นายแพทย์ วิสูตร คงเจริญสมบัติ
แพทย์หญิง ภัทรานุช นพกุลสถิตย์
นายแพทย์ กีรติพล เวียงพล

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

 

 



บทความด้านสุขภาพ

เคล็ดลับสำหรับผู้ชายในการดูแลสุขภาพ
สุขภาพสมองแข็งแรง article
วิธีบรรเทาอาการข้อต่อและปวดข้อ article