ReadyPlanet.com
เควอซิทิน (Quercetin) คืออะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร article

 เควอซิทิน (Quercetin) คืออะไร มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

        เควอซิทิน เป็นหนึ่งในสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ หมายถึง สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืช สารกลุ่มนี้อาจเป็นสารที่ทำให้พืชผักชนิดนั้นๆ มีสี กลิ่นหรือรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว สารพฤกษเคมีเหล่านี้หลายชนิดมีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิดและโรคสำคัญที่มักอ้างว่าสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันได้คือ“โรคมะเร็ง”

     กลไกการทำงานของสารเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นไปโดยการช่วยให้เอ็นไซม์บางกลุ่มทำงานได้ดีขึ้น เอ็นไซม์บางชนิดทำหน้าที่ทำลายสารก่อมะเร็งทเข้าสู่ร่างกาย มีผลทำให้สารก่อมะเร็งหมดฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันพบสารพฤกษเคมีแล้วมากกว่า 15,000 ชนิด

     เควอซิทิน เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่ให้ฤทธิ์ในการต้าน ออกซิเดชั่นสูงที่สุด มีมากในหัวหอม หอมแดง และพืชตระกูลถั่ว ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัส ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค ควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น ในหลอดเลือด และป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ลดการเป็นพิษต่อเซลล์ไขมันแอลดีแอล (LDL) จากการทดลองกลไกที่สำคัญในการทำงานของหลอดเลือด หัวใจและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง แล้วยังยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์ หยุดการขยายตัวของเซลล์ และรวมถึงการทำให้เกิดอะพ็อพโทซิส (apoptosis) หรือการตายของเซลล์ในการเจริญเติบโตของเซลล์เต้านมที่ผิดปกติได้ 

     เควอซิทิน ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นตัวนำการตายของเซลล์ในเซลล์เนื้องอกลำไส้ รวมทั้งยังช่วยยับยั้งฟอสโฟริลเลชั่น (phosphorylation) ของกลุ่มเซลล์ ที่ได้รับสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก และลดทางการเจริญเติบโต ในเซลล์เนื้องอกชนิดนี้ การได้รับฟลาโวนอล และ ฟลาโวนในระดับที่สูง (มากกว่า 30 มิลลิกรัมต่อวัน) จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลมชักในระยะแรก ในผู้ป่วยสูงอายุได้สองในสามส่วน เควอซิทิน คือ ฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ ในอาหารที่ทำการศึกษาในครั้งนี้

     ผักและผลไม้รวมคือสารสกัดเข้มข้นที่ให้สารอาหารและสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ดีที่สุดสำหรับสารต้านอนุมูลอิสระ คนไทยส่วนมากรับประทานผักและผลไม้ได้ไม่เพียงพอในแต่ละวัน จึงอาจจะมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับต่ำ การบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน จะช่วยให้ประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้

     ปัญหาด้านโภชนาการของเด็กไทยในวันนี้ นอกจากจะชอบรับประทานอาหาร หรือขนมที่มีการปรุงแต่งรสชาติ สีสัน มากด้วยน้ำตาล และไขมัน แต่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยแล้ว ยังไม่ชอบรับประทานพืชผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กลายเป็นเรื่องที่จะต้องมีการรณรงค์ เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคเสียใหม่ ให้เด็กไทยหันมาสนใจบริโภคผักกันมากขึ้น 

     จากการสำรวจภาวะอาหาร และโภชนาการของประชาชนในกรุงเทพมหานคร พบว่า เด็กวัยเรียนมีการบริโภคผักทุกวัน เพียงร้อยละ 41.1 ในปริมาณวันละ 14.3 กรัมต่อคน หรือประมาณ 1.5 ช้อนกินข้าว ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าธงโภชนาการ ซึ่งแนะนำให้เด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี ควรบริโภคผักมื้อละ 4 ช้อนกินข้าว นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กวัยเรียนมีการบริโภคอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ควรมีการบริโภคผัก ผลไม้ให้ได้วันละ 500 กรัม เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น (อ้างอิงที่ 1) 

     และมีงานวิจัยที่แสดงว่าชายไทยร้อยละ 80 กินผักผลไม้เพียง 268 กรัม/คน/วัน และหญิงไทยร้อยละ 76 กินผักผลไม้เพียง 286 กรัม/คน/วัน ซึ่งตัวเลขนี้ห่างจากมาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 400-500 กรัม/คน/วัน พอสมควรทีเดียว ผลของการไม่กินผักทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย อาทิ ท้องผูก ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เพราะได้รับคุณค่าของสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งต้องหันมากินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่และสารอาหารอย่างเพียงพอ ไม่ควรกินผักผลไม้เพียงแค่ชนิดเดียว ควรกินให้ได้หลากหลายสี ทั้ง แดง เหลือง ส้ม เขียว ขาว เพราะแต่ละชนิดให้คุณค่าของวิตามิน เกลือแร่และพฤกษเคมี สารเม็ดสีในผักผลไม้เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรค เป็นประโยชน์แตกต่างกันไป ดังนี้



     ผัก ผลไม้ สีแดง ที่เห็นคุณประโยชน์เด่นชัดเลยก็คือ มะเขือเทศ ทับทิม เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งลูกแอปเปิ้ลแดงก็ตาม ในผัก ผลไม้สีแดงนี้จะมีสารไลโคพีน(Lycopene) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) แอนโธไซยานิน(Anthocyanin) และกรดแกลลิก (Gallic acid) ที่ช่วยทำให้ระบบการทำงานของต่อมลูกหมากดีขึ้น ทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิดอีกด้วย

     ผัก ผลไม้ สีเหลือง และสีส้ม จะช่วยในเรื่องของผิว เพราะมีเบต้าแคโรทีน(Bata-carotene) อยู่จำนวนมาก เช่น แครอท ฟักทอง ข้าวโพด ใครที่กินผัก ผลไม้ประเภทนี้มาก ๆ ผิวจะกลายเป็นสีเหลือง นั่นเป็นเพราะสารเบต้าแคโรทีนไปสะสมอยู่ตรงบริเวณผิวหนัง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ผัก ผลไม้ สีเหลือง มีส่วนช่วยในการลดระดับโคเลสเตอรอล ช่วยทำให้สีผิวหน้าที่เป็นฝ้าลดลงได้ รวมทั้งข้าวโพดเหลือง ๆ ที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดสี หรือแสงสีของเรตินาของดวงตาได้อีกด้วย  

     ผัก ผลไม้ สีเขียว ที่ แทบจะเรียกได้ว่ามีมากที่สุดในบรรดาผัก ผลไม้ต่าง ๆ เช่น บร็อคโคลี่ คะน้า กะหล่ำปลี ผักโขม ผักบุ้ง กวางตุ้ง โหระพา กะเพรา สะระแหน่ และวอเตอร์เครส โดยในผักสีเขียวจะอุดมไปด้วยสารไอโซไธโอไซยาเนท(Isothiocyanate) สารลูทีน (Lutein) สารซีแซนทีน (Zeaxanthin) สารคาเทชิน(Catechins) สารอาหารเหล่านี้จะเข้าไปมีส่วนช่วยทำให้เซลล์สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังสนับสนุนการทำงานของปอด หลอดเลือดแดง และตับอีกด้วย  

     ผัก ผลไม้ สีขาว ได้แก่ กระเทียม หอมใหญ่ เห็ด กะหล่ำดอก ผักกาดขาว ดอกแค และมะขามป้อม มีสารอาหารที่ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงเช่นกัน โดยในกระเทียมมีสารอัลลิซิน(Allicin) สารเควอซิทิน(Quercetin) ที่ช่วยดูแลในเรื่องของกระดูก และทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดี ดอกแคก็มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันโรคหวัด มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยให้ผิวสวย  (อ้างอิงที่ 2) 

     ในการกินผักผลไม้นั้น นอกจากจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วนแล้ว ยังได้ในเรื่องของกากใยเพื่อช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย นอกจากนี้ผักผลไม้ยังมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูร่างกายให้หายจากอาการบาดเจ็บได้ เร็วขึ้น มาใส่ใจในการกินผักผลไม้ ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า 

เอกสารอ้างอิง :  
1. กินผักทุกวัน เด็กไทยทำได้...ของขวัญวันเด็ก จาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข http://www.anamai.moph.go.th/ewtadmin/ewt/advisor /main.php?filename=070204 
2. ผัก ผลไม้ 5 สี ดีมีประโยชน์, กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร http://203.155.220.217/hpd/slide8.html 
 

 




บทความด้านสุขภาพ

เคล็ดลับสำหรับผู้ชายในการดูแลสุขภาพ
สุขภาพสมองแข็งแรง article
วิธีบรรเทาอาการข้อต่อและปวดข้อ article